ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารระดับสูง หัวหน้าทีมขาย หรือเจ้าของธุรกิจ การพูดในที่สาธารณะเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ แต่การพูด "ได้" กับการพูดแล้ว "เชื่อ" เป็นคนละเรื่องกัน Nick Morgan ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารแนะนำว่า ความ "จริง" หรือ Authentic ไม่ใช่แค่การพูดความจริง แต่เป็นการสื่อสารอย่างแท้จริง ด้วยใจ ร่างกาย และอารมณ์พร้อมกัน
.
เราทุกคนเคยเห็นผู้นำที่พูดอย่างมั่นใจ ใช้ภาษากายเป๊ะ ใช้สไลด์โดนใจ แต่กลับไม่มีใครรู้สึกอิน หรือรู้สึกเชื่อใจ เพราะอะไร? คำตอบคือ ความ "ไม่จริง" ที่ซ่อนอยู่ภายใต้การเตรียมตัวอย่างดี เมื่อคำพูดกับภาษากายไม่ไปในทิศทางเดียวกัน สมองของผู้ฟังจะเลือกเชื่อ "ภาษากาย" มากกว่าเสียงพูด แม้เราจะพูดแต่ความจริง แต่ถ้า "ร่างกายบอกอย่างอื่น" ผู้ฟังจะรู้สึกว่าเราไม่จริงใจทันที
.
งานวิจัยทางสมองชี้ว่า ภาษากายของเรามักเกิดขึ้นก่อนที่เราจะคิดเป็นคำพูด ตัวอย่างเช่น การยิ้ม การพยักหน้า หรือการขมวดคิ้ว มักเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวก่อนที่เราจะพูดจริง ๆ ซึ่งหมายความว่า "ความจริง" เริ่มต้นจากความรู้สึก ไม่ใช่แค่คำพูด และการฝึกให้ภาษากายเข้ากับคำพูดจึงไม่ใช่การ "ซ้อมท่าทาง" แต่เป็นการ "ซ้อมความรู้สึก"
.
Nick Morgan เสนอว่า ผู้นำที่ต้องการพูดอย่างแท้จริง ต้องฝึกจาก "ความตั้งใจภายใน" 4 อย่างได้แก่
[1] ตั้งใจที่จะเปิดใจ (To Be Open)
[2] ตั้งใจเชื่อมต่อกับผู้ฟัง (To Connect)
[3] ตั้งใจพูดด้วยความหลงใหล (To Be Passionate)
[4] ตั้งใจฟังปฏิกิริยาผู้ฟัง (To Listen)
เมื่อเราซ้อมจากความตั้งใจเหล่านี้แทนที่จะจำสคริปต์ คำพูดและภาษากายจะแสดงออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ
.
ตัวอย่างเช่น ถ้าเราเริ่มซ้อมด้วยความตั้งใจจะ "เปิดใจ" ลองจินตนาการว่ากำลังเล่าเรื่องให้เพื่อนสนิทหรือครอบครัวฟัง สังเกตว่าไหล่ของเราจะผ่านคลาย สีหน้าอ่อนโยน และน้ำเสียงอบอุ่นขึ้นแค่ไหน ความรู้สึกนี้เองที่ต้องจำไว้และนำกลับมาเพื่อใช้พูดบนเวที เพราะผู้ฟังจะสัมผัสได้ทันทีว่าเรา "เปิดใจ" จริงหรือแค่แสดงออกว่าเปิด
.
เมื่อเราเปิดใจได้แล้ว ขั้นต่อไปคือ "การเชื่อมโยง" กับผู้ฟัง ลองจินตนาการว่าเรากำลังพูดกับเด็กที่เราอยากให้ตั้งใจฟัง เราจะเปลี่ยนโทนเสียง มองตา เดินเข้าไปใกล้ หรือหยุดพูดชั่วคราวเพื่อเรียกความสนใจโดยไม่รู้ตัว สิ่งเหล่านี้คือ "ภาษากายที่แท้จริง" ที่เกิดจากความต้องการเชื่อมโยง ไม่ใช่การซ้อมท่าทางจากคลาสพูดในที่สาธารณะ
.
พลังสำคัญอีกหนึ่งข้อคือ "ความหลงใหล" ถ้าเราไม่อินกับสิ่งที่พูด ผู้ฟังก็จะไม่อินเช่นกัน ลองถามตัวเองว่า "ทำไมเราถึงต้องพูดเรื่องนี้?" "อะไรคือสิ่งที่เราเชื่อจริง ๆ" เมื่อเราเจอคำตอบเหล่านี้ อารมณ์จะไหลออกมาในเสียง สีหน้า ท่าทาง โดยไม่ตั้งใจ เหมือนเวลาเราพูดถึงสิ่งที่เรารัก มันไม่จำเป็นต้องซ้อม แต่มันออกมาจากข้างในจริง ๆ
.
ข้อสุดท้ายคือ "การฟัง" แม้เราจะพูดอยู่บนเวที แต่เราต้องตั้งใจฟังผู้ฟังด้วย ผ่านแววตา ภาษากาย เสียงหัวเรา หรือแม้แต่ความเงียบ หากเราสังเกตเห็นผู้ฟังไม่อิน เราควรเปลี่ยนจังหวะ ปรับเนื้อหา หรือโยนคำถามเพื่อดึงความสนใจกลับมา เพราะการพูดที่ดี เพราะการพูดที่ดี ไม่ใช่การพูดคนเดียว แต่คือการ "สื่อสารสองทาง" ผู้ฟังรู้สึกมีส่วนร่วมด้วยจริง ๆ
.
การเป็นนักพูดที่แท้จริง จึงไม่ใช่การพูดให้ "เป๊ะ" หรือ "เก่ง" แต่คือการพูดให้ "คนรู้สึก" ถึงความตั้งใจจริง ผู้นำที่พูดอย่างจริงใจจะสามารถปลุกพลัง เปลี่ยนความคิด และสร้างความเชื่อมั่นให้กับทีมได้มากกว่าผู้นำที่แค่พูดเก่ง เพราะในโลกผู้คนเริ่มไม่เชื่อใครง่าย ๆ อีกต่อไป "ความจริงใจ" จึงกลายเป็นแต้มต่อทางธุรกิจที่ทรงพลังอย่างคาดไม่ถึง
.
.
เรียบเรียงโดย: THE INSIDER
#theinsider #HBR #speaker
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น